กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: https://buuir.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/820
ชื่อเรื่อง: ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาในการจัดทำผลงานทางวิชาการของคณาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: สมชาย พัทธเสน
มหาวิทยาลัยบูรพา. คณะศึกษาศาสตร์
คำสำคัญ: การเขียนทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยบูรพา. คณะศึกษาศาสตร์ - - อาจารย์
สาขาการศึกษา
วันที่เผยแพร่: 2545
สำนักพิมพ์: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ: การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาในการจัดทำผลงานทางวิชาการของคณาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในด้านการเตรียมและการวางแผนด้านการจัดทำผลงานทางวิชาการ ด้านการนำผลงานวิชาการไปใช้ ด้านการเผยแพร่และสร้างการยอมรับ และด้านการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ประชากรที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ คณาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545 จำนวน 36 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5ระดับ จำนวน 41 ข้อ และแบบสอบสัมภาษณ์ จำนวน 14 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ คะแนนเฉลี่ย ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า 1. ปัญหาในการจัดทำผลงานในทางวิชาการของคณาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ การเผยแพร่และสร้างการยอมรับ การนำเสนอผลงานทางวิชาการ การจัดทำผลงานทางวิชาการ การเตรียมและการวางแผน และการนำผลงานทางวิชาการไปใช้ 2. แนวทางแก้ไขปัญหาในการจัดทำผลงานทางวิชาการของคณาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มีดังนี้ 2.1 ด้านการเผยแพร่และสร้างการยอมรับ มีดังนี้ คณะศึกษาศาสตร์ ควรอำนวยความสะดวกในการนำผลงานทางวิชาการลงตีพิมพ์ที่ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองบทความทางวิชาการ (Peer Review) โดยคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ควรเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ วารสารไม่ควรมีคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เพราะจะทำให้การนำเสนอผลงานทางวิชาการล่าช้า เพราะมีการแก้ไขหลายครั้ง เนื่องจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ อาจให้ความคิดเห็นของตนมากเกินไป ควรจัดงบประมาณให้เพียงพอสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ หาแหล่งทุนจากหน่วยงานภายนอกให้ในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ และคณะฯควรเป็นผู้ที่ดำเนินการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการให้ 2.2 ด้านการนำเสนอผลงาน คณะศึกษาศาสตร์ ควรปรับปรุงกฎระเบียบที่ยุ่งยากและซับซ้อนให้เป็นระบบที่ชัดเจน ลดกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากและซับซ้อนยากที่จะทำตามได้ ลดขั้นตอนในการนำเสนอผลงานทางวิชาการให้สั้นลง ให้มีคณะกรรมการให้คำแนะนำตรวจสอบแก้ไขก่อนที่จะส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณา และลดจำนวนเอกสารคำขอผลงานทางวิชาการให้น้อยลง 2.3 ด้านการจัดทำผลงานทางวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์ ควรจัดงบประมาณสนับสนุนให้เพียงพอต่อความต้องการของอาจารย์ทุกคนที่ต้องการทำผลงานทางวิชาการ จัดหาแหล่งทุนอุดหนุนในการจัดพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ทำคู่มือแนวทางการจัดทำผลงานทางวิชาการให้ความรู้เกี่ยวกับรูปเล่ม การพิมพ์ รูปภาพประกอบ บรรณานุกรมที่ถูกต้อง อบรมประชุมสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการแนะนำการวางแผนในการจัดทำผลงานทางวิชาการโดยการเชิญวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายพิเศษ และควรมีผู้ให้คำปรึกษาแก่ผู้จัดทำผลงานทางวิชาการหรืออาจทำในรูปของการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) 2.4 ด้านการเตรียมและการวางแผน คณะศึกษาศาสตร์ ควรจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับผลงานทางวิชาการ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยควรรวมกันทำเป็นเครือข่าย (Networks) ซึ่งสามารถสืบค้นได้ทางเว็บไซต์ (Website) ควรรวบรวมผลงานทางวิชาการที่มีมาตรฐานและคุณภาพที่ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งแล้วไว้ที่ห้องสมุดเพื่อศึกษาค้นคว้า ควรจัดทำคู่มือและเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดทำผลงานทางวิชาการ ควรมีการจัดอบรม เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่มีความประสงค์จะจัดทำผลงานทางวิชาการและควรมีการจัดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนผู้ที่ต้องการทำผลงานทางวิชาการ 2.5 ด้านการนำผลงานทางวิชาการไปใช้ คณะศึกษาศาสตร์ ควรมีการจัดอบรมการวิเคราะห์และประเมินคุณภาพเป็นประจำเพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำผลงานไปใช้ได้อย่างเหมาะ จัดทำคู่มือและเอกสารต่างๆเพื่อเป็นแนวทางในการนำผลงานทางวิชาการไปใช้ นำผลงานวิจัยไปเสนอที่ประชุมวิชาการ ให้ผู้ที่ได้ใช้ผลงานทางวิชาการส่งผลการวิจารณ์ตอบกลับมาให้ทราบเพื่อที่จะได้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป จัดอบรมสัมมนาให้แก่อาจารย์ทุกคนในระหว่างมีการนำผลงานทางวิชาการไปใช้ มีการติดตามผลการใช้ผลงานทางวิชาการตลอดเวลา สนับสนุนให้หน่วยงานผู้ร่วมงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนำผลงานทางวิชาการไปใช้
URI: http://dspace.lib.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/820
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:รายงานการวิจัย (Research Reports)

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม ขนาดรูปแบบ 
2546_006.pdf6.19 MBAdobe PDFดู/เปิด


รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น