กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: https://buuir.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/1741
ชื่อเรื่อง: การพัฒนาเมืองผู้สูงอายุแสนสุข (ปีที่2)
ชื่อเรื่องอื่นๆ: Development Saensuk happiness elderiy community model (Phase II)
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: เวธกา กลิ่นวิชิต
พิสิษฐ์ พิริยาพรรณ
มยุรี พิทักษ์ศิลป์
รัชนีภรณ์ ทรัพย์กรานนท์
สรร กลิ่นวิชิต
พวงทอง อินใจ
สุนันทา โอศิริ
วนัสรา เชาวน์นิยม
ทนงศักดิ์ ยิ่งรัตนสุข
ดนัย บวรเกียรติกุล
กาญจนา พิบูลย์
มหาวิทยาลัยบูรพา. คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา. คณะพยาบาลศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา. คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
มหาวิทยาลัยบูรพา. คณะสาธารณสุขศาสตร์
คำสำคัญ: การดูแลผู้สูงอายุ
ความเคลียดในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุ
สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
สุขภาพผู้สูงอายุ
วันที่เผยแพร่: 2558
สำนักพิมพ์: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ: แผนงานวิจัย ปีที่ 2 ระยะที่ 2 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเมืองผู้สูงอายุ มีโครงการวิจัยย่อยภายใต้แผนงานวิจัยจำนวน 10 โครงการวิจัยย่อย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ย่อย ดังนี้ 1) เพื่อจัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลของผู้สูงอายุในพื้นที่เทศบาลเมืองแสนสุข และศึกษาพัฒนาวิถีสุขภาพของผู้สูงอายุและแกนนำสุขภาพครอบครัวในพื้นที่เทศบาลเมืองแสนสุข 2) เพื่อพัฒนาศักยภาพในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุของแกนนำนิสิต และพัฒนารูปแบบการพัฒนาแกนนำนิสิตเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ ตามบริบทของพื้นที่ในชุมชนต้นแบบ พื้นที่เทศบาลเมืองแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 3) เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาแกนนำสุขภาพครอบครัวและชุมชนเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ 4) เพื่อประเมินและติดตามผลการนำรูปแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานตามรูปแบบที่ครอบครัวและชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้น 5) เพื่อศึกษาผลการใช้เทคนิคสัญญาณพลังแบบองค์รวมและ ตามทฤษฎีโปรแกรมภาษาประสาทสัมผัส ต่อความเครียดของ ผู้สูงอายุทีเป็นโรคเรื้อรัง 6) เพื่อศึกษาผู้สูงอายุจิตอาสาต้นแบบและนำ คุณลักษณะ มาพัฒนารูปแบบสร้างแกนนำผู้สูงอายุจิตอาสา โดยจัดกิจกรรมพัฒนาความรู้ทักษะ ผู้สูงอายุให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมในการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันปัญหาสุขภาพ และเสริมสร้างความสุขทางใจสำหรับผู้สูงอายุที่มีจิตอาสา 7) เพื่อสังเคราะห์และพัฒนารูปแบบการดูแลภาวะโภชนาการและภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุแบบบูรณาการ 8) เพื่อศึกษาภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทย และพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทย โดยใช้วิธีการจัดการความรู้ (KM) 9) เพื่อสร้างรูปแบบการจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุแบบไปกลับในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา วิธีการดำเนินการวิจัย ใช้วิจัยเชิงสำรวจ วิจัยกึ่งทดลอง วิจัยเชิงพัฒนาและวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ระยะเวลาในการศึกษา ตั้งแต่ ตุลาคม 2557-กันยายน 2558 ผลการวิจัย พบว่า 1. ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี พบว่า ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะเป็นโรคเรื้อรัง มีอาการของการปวดเข่าและข้อเสื่อมตามวัยที่สูงวัยขึ้น และมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นโรคประจำตัว คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง 2. รูปแบบการพัฒนาแกนนำสุขภาพครอบครัวและชุมชนเพื่อการดูแลผู้สูงอายุประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก คือ 1) ผู้ดูแลทีเป็นแกนนำสุขภาพครอบครัว/ชุมชน ซึ่งมีองค์ประกอบย่อย คือ ศักยภาพหรือความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุ 3 ด้าน คือการเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจ การเตรียมความพร้อมทางด้านความรู้ และการเตรียมความพร้อมทางด้านการปฏิบัติการดูแล 2) การสนับสนุนทางสังคม ซึ่งมีองค์ประกอบย่อย คือ การสนับสนุนด้านจิตใจ การสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้และทรัพยากรต่างๆ การสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้และทรัพยากรต่างๆ การสนับสนุนข้อมูลข่าวสารความรู้และการสนับสนุนเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้ 3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน แพทย์ พยาบาล เป็นต้น 4) ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของรูปแบบ ที่มุ่งพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ด้านร่างกาย จิตใจ/จิตวิญญาณ สังคม และสิ่งแวดล้อม 3. ผู้สูงอายุในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี ทีเป็นโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเบาหวาน พฤติกรรมการดูแลตนเอง ในภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง โดยมีพฤติกรรมการจัดการความเครียด อยู่ในระดับ ต่ำ ยังมีพฤติกรรมการรับประทานยาที่ผิด และมีปัญหาเรื่องการพักผ่อน นอนหลับอย่างเพียงพอทุกวัน มีความพร้อมด้านการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่ดีทำให้เป็นโอกาสและจุดแข็งของชุมชนในการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุทีเป็นโรคเรื้อรังให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 4. ผลการให้คำปรึกษาแก่ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังที่ โดยใช้เทคนิคสัญญาณพลังแบบองค์รวมตามทฤษฎีโปรแกรมภาษาประสาทสัมผัสต่อความเครียดของผู้สูงอายุ พบว่า มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการทดลองกับระยะเวลาของการทดลองอย่างมีวินัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้สูงอายุทีเป็นโรคเรื้อรังและมีความเครียดกลุ่มทดลองที่ได้รับการให้คำปรึกษามีระดับความเครียดในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลต่ำกว่าผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับการให้คำปรึกษาด้วยวิธีปกติอย่างมีวินัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผู้สูงอายุกลุ่มทดลองมีระดับความเครียดในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลต่ำกว่าระยะก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5. หลักสูตรการฝึกอบรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทย โดยใช้วิธีการจัดการความรู้ (KM) กิจกรรมที่ผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่ พึงพอใจในระดับมากที่สุด เป็นการทำอาหารเพื่อสุขภาพ กายบริหารท่าฤาษีดัดตน การนวดตนเอง การทำลูกประคบ การสวดมนต์ การเดินจงกรม บทพิจารณาความตาย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้เข้ารับการอบรมสามารถมีส่วนร่วมได้ การสัมภาษณ์ติดตามผลในระยะเวลา 2 เดือนหลังการอบรม พบว่า เข้าร่วมโครงการ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจาก การอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวัน และไปเผยแพร่หรือช่วยเหลือผู้สูงอายุอื่นต่อไปได้อย่างบูรณาาการ 6. ผู้สูงอายุในชุมชนเขาสามมุก เขตเทศบาลเมืองแสนสุข ส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับแหล่งการเรียนรู้ (60.0%) ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง (50.0%) ไม่รู้วิธีการเรียนรู้ (50.0%) และไม่เคยได้รับการฝึกทักษะในการเรียนรู้ (50.0%) และมีความต้องการได้รับการพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ (55.0%) รูปแบบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นคือ โครงการอบรมให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุเรื่องปัญหาสุขภาพจากการทำงาน จากนั้นกลุ่มตัวอย่างนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีการหยุดพักหรือเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างการทำงานเป็นระยะๆ บางคนเข้าร่วมกิจกรรมออกกำลังกายโดยการรำกระบองทุกวัน เป็นเวลา 1 เดือน ผลการเปรียบเทียบภาวะพฤฒิพลังพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีภาวะพฤฒิหลังเรียนรู้สูงกว่าก่อนเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 7. สภาพการสุขาภิบาลสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุทางด้านกายภาพ อยู่ในระดับดี ในด้านความปลอดภัย อยู่ในระดับพอใช้ สภาพอุปกรณ์ความสะดวกและความปลอดภัยภายในชุมชนที่อยู่อาศัยของสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ความคิดเห็นและความต้องการต่อการจัดการที่อยู่อาศัย พบว่า ผู้สูงอายุกลุ่มตัวอย่างต้องการสนับสนุนด้านอุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงและดัดแปลงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุมากที่สุด (ร้อยละ 44.69) ความคิดเห็นและความต้องการต่อการจัดการอาคารสถานที่สาธารณะ พบว่า ผู้สูงอายุต้องการให้วัด/ศาสนสถานมีการจัดการให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุมากที่สุด (ร้อยละ 47.81) การสัมภาษณ์เชิงลุก สรุปได้ว่า ควรมีโครงการและกิจกรรมการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของผู้สูงอายุโดยการสนับสนุนจากเทศบาล และภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือ ปรับปรุงอาคารสาธารณะในพื้นที่ของเทศบาลให้เอื้อต่อการใช้บริการของผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง มีการให้ความรู้ถึงพฤติกรรมและท่าทางการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันที่ถูกต้องสำหรับผู้สูงอายุ ตามหลักการยศาสตร์โดยต้องอาศัยมาตรการการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เป็นหลัก และจำเป็นต้องกำหนดไว้เป็นแผนงานและโครงการในยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 8. การศึกษาความคิดเห็นของผู้สูงอายุเกี่ยวกับรูปแบบการให้บริการแบบไปกลับ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรมีห้องหรือพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน มีบริเวณที่เป็นสนามหญ้าหรือสวนหย่อมเพื่อใช้ในการพักผ่อน มีพื้นที่สำหรับออกกำลังกายกลางแจ้งและร่ม มีห้องทำกิจกรรมทางศาสนา และมีห้องพักผ่อนหรือดูทีวีส่วนกลาง ความต้องการด้านบริการ พบว่า สถานบริการดูแลผู้สูงอายุแบบไปกลับควรมีกิจกรรมตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้ผู้สูงอายุเดือนละ 1 ครั้ง ควรมีกิจกรรมตรวจสุขภาพฟันให้ผู้สูงอายุปีละ 2 ครั้ง ควรมีการจัดเตรียมอาหารกลางวัน และอาหารว่างให้ผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ หรือกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ควรมีกิจกรรมนันทนาการให้แก่ผู้สูงอายุ ควรมีบริการรับส่งที่บ้าน และ ควรมีบริการรถรับส่งผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และต้องการให้มีสถานบริการดูแลผู้สูงอายุแบบไปกลับในชุมชน มีความสนใจไปใช้บริการดูแลผู้สูงอายุแบบไปกลับ และคิดว่าถ้ามีสถานบริการผู้สูงอายุแบบไปกลับในชุมชนมีประโยชน์มาก ผลการศึกษาในเชิงคุณภาพ พบว่า กิจกรรมบริการทางสังคมให้เน้นการบริการแบบดูแลทั่วไปในกิจวัตรประจำวันที่ครอบคลุมการบริการเรื่อง อาหาร การทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ การเข้าห้องน้ำ การรับประทานยา หรือกิจกรรมสันทนาการรูปแบบบริการทางการแพทย์เน้นบริการ การรักษาพยาบาลบางเรื่องเช่น กายภาพบำบัด หรือ กิจกรรมบำบัด เป็นต้น
URI: http://dspace.lib.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/1741
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:รายงานการวิจัย (Research Reports)

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม ขนาดรูปแบบ 
2559_134.pdf6.35 MBAdobe PDFดู/เปิด


รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น