กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: https://buuir.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/3295
ชื่อเรื่อง: ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
ชื่อเรื่องอื่นๆ: Instructinal leadership of the basic education school principals
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: สิทธิพร นิยมศรีสมศักดิ์
มหาวิทยาลัยบูรพา. คณะศึกษาศาสตร์
คำสำคัญ: ผู้บริหารโรงเรียน
ภาวะผู้นำ
ภาวะผู้นำทางการศึกษา
สาขาการศึกษา
วันที่เผยแพร่: 2556
บทคัดย่อ: การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในสภาพไม่น่าพอใจนัก สถานศึกษาระดับประถมศึกษารวมทั้งสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาบางส่วนมีคุณภาพต่ำ ตรวจสอบได้จากผลการสอบ O- net หรือ การสอบ NT ซึ่งพบว่านักเรียนมีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ปรากฏการณ์ดังกล่าว นักการศึกษาให้ความเห็นว่าเกิดจากปัจจัยหลายประการ ประการแรกคือ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่ตรงตามปรัชญาและจิตวิทยาการเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้ของนักเรียนเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเช่นส่งเสริมการท่องจำ ไม่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์หรืออื่น ๆ ประการที่สองคือ การไม่ได้สอนหรือสอนไม่เต็มตามที่หลักสูตรกำหนด ทั้งนี้เพราะโรงเรียนในประเทศไทยมีงานที่เกี่ยวข้องกับงานธุรการตามระเบียบราชการที่จะต้องปฏิบัติจำนวนมาก ครูผู้สอนต้องทำงานเหล่านี้ให้เรียบร้อยเสียเวลาจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ทำให้มีเวลาสอนน้อยลง ประการที่สามคือ สภาพเศรษฐกิจและทางสังคมของชุมชน ก่อให้เกิดความไม่พร้อมในการเข้ารับการศึกษาของนักเรียนกล่าวคือโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่ประชาชนมีฐานะยากจนความยากจนเป็นสาเหตุสำคัญของคุณภาพชีวิต จากสถิติของทางราชการพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้ต่ำ มีปัญหาด้านการรักษาสุขอนามัย มีปัญหาด้านการศึกษา เยาวชนซึ่งเป็นผลผลิตของชุมชนเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย ภาพของนักเรียนที่เครื่องแต่งกายชำรุดรีบเดินปนวิ่งไปโรงเรียนเพราะบ้านอยู่ในสวนในไร่ซ้ำยังต้องช่วยผู้ปกครองทำงานในตอนเช้า ภาพของนักเรียนที่ง่วงนอนเพราะไปช่วยผู้ปกครองกรีดยางหลังเที่ยงคืน ภาพของนักเรียนที่อิดโรยเพราะไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียน ฯลฯ ความไม่พร้อมของนักเรียนในการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนเหล่านั้นถึงแม้ครูผู้สอนจะมีศักยภาพสูงเพียงใดก็ตามแต่นักเรียนจะรับได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น (สิทธิพร นิยมศรีสมศักดิ์, 2556, สัมภาษณ์) ประการที่สี่คือ สภาพการบริหารจัดการสถานศึกษาอุดมการณ์ของรัฐกำหนดให้มีการบริหารแบบมีส่วนร่วมพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ชี้ทิศทางและแนวปฏิบัติในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารโรงเรียน แต่เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่กำลังพัฒนา ไม่มีความพร้อมที่จะมาร่วมบริหารโรงเรียนภาพที่ปรากฏคือ เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจะมีกรรมการมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม การแสดงความคิดเห็นระหว่างประชุมสมาชิกที่มาจากชุมชนจะไม่แสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่จะคล้อยตามผู้อำนวยการโรงเรียน การมีส่วนร่วมด้านกำลังทรัพย์และแรงงานมีน้อยเนื่องจากความยากจนของชุมชน ยังไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือโรงเรียน สรุปได้ว่าอุดมการณ์ของรัฐในด้านนี้ไม่เป็นจริงเช่นกัน (สิทธิพร นิยมศรีสมศักดิ์, 2556, สัมภาษณ์) ในศาสตร์บริหารการศึกษานักบริหารการศึกษามีความเชื่อว่า ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาจะช่วยเยียวยาปัญหาความไม่พร้อมต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ศาสตร์บริหารการศึกษาเชื่อว่าผู้บริหารสถานศึกษาเป็นเสมือนผู้นำ ทีมงานของโรงเรียนในการบริหารจัดการงานต่าง ๆ ของโรงเรียนซึ่งปัจจุบันมี 4 งาน คือ งานวิชาการ งานงบประมาณ งานบริหารบุคคล และงานบริหารทั่วไป จากสภาพปัญหาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษาที่กล่าวมาตอนต้น นักบริหารการศึกษา จึงให้ความสำคัญกับภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารโรงเรียน
URI: http://dspace.lib.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/3295
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:บทความวิชาการ (Journal Articles)

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม ขนาดรูปแบบ 
eduman7n2p1-8.pdf443.92 kBAdobe PDFดู/เปิด


รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น